ดอกเกลือ คืออะไร ?

       ดอกเกลือ...ของไทย  ในความเป็นจริงแล้ว ชาวนาเกลือในประเทศไทยก็ได้ผลิตดอกเกลือมานานนับร้อยปีมาแล้ว โดยเฉพาะที่ บ้านบางตะปูน ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม หรือที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  พอฟ้าเริ่มสาง อาทิตย์ทอแสงสีทองอ่อน ๆ น้ำทะเลในผืนนาเกลือจะถูกแดดและลมพัดให้แห้งจนได้ความเค็มประมาณ 20-25 ดีกรี เกิดเกสรเกลือ หรือ เกลือแรกเริ่มตกผลึก ชาวนาเกลือเรียกว่า ดอกเกลือ  ซึ่งจะเป็นผงเล็กๆ ลอยจับตัวกันเป็นแพอยู่เหนือน้ำผืนนาเกลือ ดังนั้นชาวนาเกลือจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อรีบช้อนดอกเกลือ ก่อนที่แสงแดด และสายลมจะทำให้ดอกเกลือจมลงด้านล่าง      

        กล่าวกันว่า ดอกเกลือที่เก็บได้ในเวลาเช้าตรู่นี้จะมีไอโอดีนสูง มีสีสันขาวเป็นประกายแวววาว รสชาติเค็มอมหวาน เป็นดอกเกลือที่สะอาด เพิ่งเกิดใหม่ๆ ไม่ได้สัมผัสกับพื้นดิน หรือตากลม ตากฝุ่นอยู่นาน  มีแร่ธาตุต่างๆสูงมาก จึงมีคุณภาพสูง อีกทั้งเพราะมีปริมาณน้อย ราคาจึงแพง (เสียดายไม่สามารถหาข้อมูลวิชาการอ้างอิงได้ เรื่องแร่ธาตุในดอกเกลือของเรา) โดยปกติแล้วเกลือนั้นหากขายปลีกกันจะตกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่หากเป็นดอกเกลือนี้จะราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 10 - 15 บาททีเดียว  

         ดอกเกลือ จึงเปรียบเสมือนอัญมณีที่ล้ำค่าของชาวนาเกลือ ซึ่งเป็นที่หวงแหนมาก เพราะมีน้อย ชาวนาเกลือจึงเก็บดอกเกลือไว้ใช้เองทั้งบริโภค และประทินผิวพรรณเปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านของชาวนาเกลือ เก็บไว้ล้างแผลบ้าง เก็บไว้แจกจ่ายผู้มาเยือนบ้าง

         ผู้เขียนเคยได้ดอกเกลือมาจากสมุทรสงครามถุงหนึ่งราวๆหนึ่งกิโลกรัม ก็ใช้ทำกับข้าวแทนการใช้น้ำปลา คือเอามาต้มยำทำแกง ไม่ได้ประดิดประดอยใช้อย่างที่ฝรั่งใช้ Fleur de Sel

         คิดเล่นๆว่าฝรั่ง(เศส)ผลิต Fleur de Sel ได้ปีละครั้งเท่านั้น เมืองไทยมีโอกาสผลิตได้ยาวนานกว่าเพราะมีแสงแดดเกือบทั้งปี หากเรารักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี ทะเลสะอาด น้ำทะเลที่จะใช้มาผลิตเกลือสะอาด กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิมโดยภูมิปัญญาไทยของเรา การวิจัยคุณค่าของแร่ธาตุสารอาหารดอกเกลือของเราเปรียบเทียบกับของต่างประเทศให้ได้รู้กันแจ้งๆไปเลย และ การวิจัยพัฒนาเพื่อนำดอกเกลือมาผลิตเครื่องสำอาง อาจจะช่วยส่งเสริมให้อาชีพการทำนาเกลือยังคงอยู่ และสร้างรายได้จากการทำนาเกลือเพิ่มขึ้น

         ปัญหาของคนไทยคือ เรามักไม่ค่อยเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาของเราเอง  หากต้องการจะยกย่องก็ทำเป็นครั้งๆ(มักทำเพื่อให้ผู้พูดดูดี) เป็นแนวโรแมนติค รำลึกโหยหาความโบราณ มากกว่าจะกล่าวยกย่องอย่างมีข้อมูลน่าเชื่อถือ ประกอบเข้ากับเรื่องราวที่มาของภูมิปัญญาของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

         ทะเลไทยอยู่ในเขตร้อน ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีแร่ธาตุสารอาหารมากกว่าทะเลเขตหนาวอย่างยุโรปด้วยซ้ำ ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งทำร้านอาหารไทยชื่อดัง และเขียนตำราอาหารไทยและเอเชีย อยู่ที่ซานฟรานซิสโก เธอมาเมืองไทยครั้งใด ขากลับทุกครั้งต้องซื้อ "เกลือไทย" กลับไปอเมริกาทุกครั้ง ผู้เขียนเคยถามว่าอเมริกาก็มีเกลือขายมากมาย เกลือไทยถูกกว่าหรือจึงต้องหอบไปให้หนัก เธอตอบว่า ไม่ใช่ถูกกว่า แต่นำไปปรุงอาหารแล้วได้รสชาติดีกว่าเกลือฝรั่ง

ที่มา  : http://www.gotoknow.org/blogs